วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2556

งานหลังบ้านของแอคชัวรี


สืบเนื่องมาจากการสัมภาษณ์ในรายการ “ก้าวทันประกันภัย” ทางช่อง Nation Channel ที่ได้พูดคุยเกี่ยวกับอาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัยว่ามีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร อาชีพนี้ทำอะไรบ้าง จนมาถึงคำถามที่ว่า “ในแต่ละวันนั้นแอคชัวรีได้ทำอะไรบ้าง”


งานของแอคชัวรีถ้าจะเปรียบง่ายๆ แล้วก็ยังแบ่งออกเป็นงานหน้าบ้านกับงานหลังบ้าน ซึ่งคราวที่แล้วได้อธิบายถึง “งานหน้าบ้าน” ของแอคชัวรีกันมาพอสมควร คราวนี้จึงขอหยิบยก “งานหลังบ้าน” มาแจกแจงกันบ้าง
 

งานหลังบ้าน เป็นงานที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบไม่ยิ่งหย่อนไปกว่างานหน้าบ้านเลย ถ้าเปรียบการสร้างแบบประกันขึ้นมาแบบหนึ่งให้เหมือนกับการสร้างตึกแล้ว งานหน้าบ้านคือการออกแบบแปลนและคำนวณว่าตึกที่จะสร้างนั้นจะมีคนมาซื้อและเมื่ออยู่แล้วจะไม่ล้มพังลงมา แต่เมื่อตึกนั้นได้ถูกขายไปแล้ว งานหลังบ้านจะรับช่วงต่อมาในการดูแลรักษาตึกให้มีสภาพเรียบร้อยและทำให้คนที่เข้ามาอยู่มั่นใจได้ว่าตึกนี้มีความมั่นคงแข็งแรง ไม่หวั่นแม้วันน้ำท่วม แผ่นดินไหว ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการที่ลูกค้าได้ซื้อแบบประกันไปนั้นก็หมายความว่าบริษัทประกันภัยจะต้องจัดการความเสี่ยง ดูแลงบการเงิน เพื่อมั่นใจในความสามารถในการชำระหนี้ได้ (solvency) ของบริษัทเอาไว้จนกว่าวันที่ต้องจ่ายเงินคืนให้กับลูกค้า


งานหลังบ้านจึงเป็นอะไรที่ต้องดูแลผู้ถือกรมธรรม์ไปตลอดอายุสัญญาที่ได้เขียนเอาไว้ ถ้าเป็นแบบประกันชีวิตที่คุ้มครองตลอดชีวิตแล้ว นั่นก็หมายถึงการที่จะต้องจัดการดูแลกรมธรรม์นั้นไปตลอดชีวิตของลูกค้า ถึงแม้ว่าบริษัทขายสินค้ามานานแล้วหลายสิบปี แต่สินค้าที่ขายมาตั้งแต่บริษัทยังเริ่มก่อตั้งนั้น ก็ยังคงสภาพเหมือนตึกที่สร้างเอาไว้ ต่างกันตรงที่ว่าตึกที่เก่าแล้วยังสามารถทุบทิ้งและสร้างใหม่ได้ แต่กรมธรรม์นั้นจะยังคงอยู่คู่กับบริษัทตลอดไป ผลิตภัณฑ์ประกันภัยจึงเป็นอะไรที่ต้องมีการจัดการดูแลมากกว่าสบู่หรือผงซักฟอกที่ขายแล้วก็ขายเลย (แน่นอนว่าคงต้องมีบริการหลังการขายอยู่)


งานหลังบ้านของแอคชัวรีสามารถจำแนกออกได้คร่าวๆ ดังนี้

1.               งานทางด้านการประเมินมูลค่าของหนี้สิน (Liability valuation) ซึ่งจะต้องประเมินค่าต้นทุนที่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร และเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเท่าไร โดยใช้หลักการทางคณิตศาสตร์ประกันภัยเข้ามาประยุกต์และเอามาคำนวณมูลค่าเพื่อตั้งหนี้สิน (Liability) ในงบการเงินของบริษัท ซึ่งหนี้สินสำหรับผู้ถือกรมธรรม์นั้นโดยหลักการแล้วจะมีอยู่ 2 ชนิด คือ 1) เงินสำรองกรมธรรม์ประกันภัย (Policy Reserve) และ 2) เงินสำรองสินไหมทดแทน (Claim Reserve) ซึ่งมีวัตถุประสงค์และการตีความเงินสำรองทั้ง 2 ชนิดต่างกัน มีความสำคัญต่างกันระหว่างบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย

2.               การวิเคราะห์งบกำไรขาดทุน (Profit and Loss analysis) เพราะเงินสำรองที่ตั้งเพิ่มขึ้นในแต่ละปีนั้น คือการทำให้บริษัทรับรู้กำไรในปีนั้นได้น้อยลง ในมุมกลับกัน ถ้าแอคชัวรีปล่อยเงินสำรองออกมาใช้ในปีนั้น ก็จะเป็นการรับรู้กำไรในปีนั้นให้มากขึ้น ซึ่งการจะตั้งเพิ่มขึ้นหรือปล่อยออกมาเท่าไรนั้นก็จะต้องขึ้นกับหลักการทางคณิตศาสตร์ประกันภัย และชนิดของงบการเงินที่บริษัทใช้อยู่

3.               การจัดการความสามารถในการชำระหนี้ได้ของบริษัท (Solvency ratio) ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะนอกจากเงินสำรองที่บริษัทจะต้องตั้งแล้ว บริษัทยังต้องตั้งเงินกองทุนขั้นต่ำที่เอาไว้รองรับความเสี่ยงด้านต่างๆ เอาไว้ด้วย

4.               การจัดการเงินกองทุน (Capital Management) เป็นสิ่งที่นักลงทุนและผู้ถือหุ้นของบริษัทได้เน้นหนักในปัจจุบันนี้ เพราะเงินทุนแต่ละเม็ดนั้นมาจากนักลงทุนและผู้ถือหุ้นของบริษัททั้งนั้น การจัดการเงินทุนให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นการนำเงินไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนที่ดี การจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น การจัดการดูแลกรมธรรม์และให้เงินปันผลแก่ลูกค้า ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องนำไปพิจารณาร่วมกับความเสี่ยงที่เหมาะสมด้วย

5.               การประเมินมูลค่าของบริษัท (Appraisal Value) ซึ่งจะเป็นกระบวนการที่ทำกันเป็นประจำสำหรับบริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้น เนื่องจากราคาหุ้นของบริษัทมีค่าเท่ากับมูลค่าของบริษัทหารด้วยจำนวนหุ้นนั่นเอง การประเมินมูลค่าบริษัทจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งยวด และนำตัวเลขที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น มาคำนวณเป็นมูลค่าของบริษัท ส่วนบริษัทที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหุ้นนั้นอาจจะมีการประเมินมูลค่าของบริษัทอยู่บ้างในแง่ของการซื้อขายบริษัทหรือควบรวมกิจการ

6.               อื่นๆ เช่น งานการประกันภัยต่อ (Reinsurance) งานการเก็บรวมรวมสถิติข้อมูล (Statistic report) งานการจำลองโมเดล (Modeling) เป็นต้น


ทั้งนี้ งบการเงินของแต่ละบริษัทก็มีหลายแบบแตกต่างกันไป บางบริษัทนั้นมีงบการเงินมากถึง 5 – 6 แบบเลยทีเดียว


ภาพงานของแอคชัวรีจึงเป็นเหมือนกับภูเขาน้ำแข็ง ที่มองเห็นผิวเผินแล้วจะมีน้ำแข็งที่ยื่นโผล่มาบนผิวน้ำไม่มาก แต่โดยปกติแล้วภูเขาน้ำแข็งจะมีน้ำแข็งอยู่ใต้ผิวน้ำมากกว่าน้ำแข็งที่อยู่บนผิวน้ำถึง 10 เท่า แล้วคุณล่ะครับ เห็นภาพของภูเขาน้ำแข็งก้อนนี้หรือยัง


สำหรับท่านที่สนใจอยากดูคลิปการสัมภาษณ์สดเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ประกันภัยในรายการก้าวทันประกันภัย ก็สามารถเข้าไปที่ YouTube แล้วพิมพ์คำว่า ก้าวทันประกันภัย คณิตศาสตร์ประกันภัยกันได้ครับ [หรือคลิ๊กที่ลิงค์ www.youtube.com/watch?v=IVZ_O5h2Yf0]


·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) – ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายคณิตศาสตร์ประกันภัยของบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น