วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

30 เคล็ด (ไม่ขัดยอก) กับการเตรียมตัวสอบครอบจักรวาล

บทความในคราวนี้มีเผื่อไว้สำหรับคนที่ต้องใช้ชีวิตที่เกี่ยวพันกับการสอบอยู่ จะหมกหมุ่นเพราะชอบหรือโดนบังคับก็เถอะ แต่การสอบก็เป็นสถานประลองฝีมืออีกแห่งหนึ่งที่จะวัดว่าใครเป็นคนที่มีความสามารถ แต่ก็ต้องเลือกสถาบันที่จัดสอบดีๆ ซึ่งขอแนะนำว่า ถ้าเป็นการสอบที่ได้ระดับสากลรองรับก็จะดีกว่า เพราะยังมีสนามสอบอีกหลายแห่งที่เป็นการสอบแบบไม่มีคุณค่าหรือแทบจะไม่ได้การรับรองเลยก็ได้

สนามสอบก็เหมือนสนามรบ การสอบในหลายๆ สนาม ไม่ว่าจะเป็นการสอบเอนทรานซ์ สอบสัมภาษณ์เข้าทำงานใหม่ หรือ สอบสารพัดจิปาถะต่างๆ เช่น CFA (Chartered Financial Analyst) หรือ FRM (Financial Risk Manager) เท่าที่ผ่านมาจะเห็นว่าการสอบให้ได้ FSA (Fellow of Societies of Actuaries) นั้นมีความตึงเครียดอย่างกับอยู่ในช่วงภาวะสงครามมากกว่าการสอบแบบอื่นๆ เพราะต่างคนก็เตรียมตัวกันมาเป็นปี เพื่อสอบให้ผ่านให้ได้ตำแหน่งและเงินเดือนขึ้น (อย่างอัตโนมัติ) หลายต่อหลายคนที่แฟนรอขอแต่งแต่ก็ต้องรอให้อีกฝ่ายสอบผ่านเป็น FSA ให้ได้หมดก่อน บางคนถึงขั้นคิดว่ามันเป็นเหมือนพันธะหรือบ่วงกรรมซะมากกว่า แต่ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับคนที่เข้าสอบทุกท่านให้พยายามกันต่อไป (ภาษากวางตุ้งจะพูดว่า กาเหยา แปลตรงตัวว่า เติมน้ำมัน หมายถึงว่าให้ สู้ๆ ครับ) จึงไม่แปลกเลยที่คนอเมริกาที่ได้เป็น FSA เวลาจะหย่ากัน อีกฝ่ายเขาจะเรียกร้องขอค่าสินสมรสจากความเป็น FSA ด้วย เพราะจะถือว่า กอดคือผ้าห่มของหัวใจ กำลังใจคือผ้าห่มของการสอบ ถ้าไม่มีฝ่ายที่คอยปรนนิบัติให้กำลังใจ อีกฝ่ายหนึ่งก็คงสอบไม่ได้ คนที่เป็น FSA จึงไม่ควรหย่าครับ หรือถ้ามองในมุมตรงกันข้ามก็ขอแนะนำว่าให้หาคนที่มีแววน่าจะเป็น FSA ในอนาคต แล้วก็แต่งซะตอนที่ยังไม่เป็น FSA พอเวลาหย่าแล้วจะได้สินสมรสหลังแต่งเยอะกว่าหลายเท่าทีเดียว

เอ่ยเรื่องการสอบมาก็มากพอสมควรแล้ว มาลองดูกันว่าเราจะเตรียมตัวในการเข้าสนามสอบกันจริงๆ อย่างไร  เท่าที่ผ่านสนามสอบมาจากประสบการณ์ตรงก็พอจะสรุปเทคนิคในการเตรียมตัวต่างๆ ก่อนสอบได้ดังนี้
          1.                จัดตารางการทบทวนสิ่งที่อ่านมาให้ดี อย่างน้อยๆ ก็ก่อนสอบประมาณ 2 สัปดาห์   ปกติจะเริ่มท่องจำสิ่งที่เข้าใจมาเพื่อใช้ในการสอบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นก็ตอนช่วงสัปดาห์สุดท้าย (work out a revision plan) ช่วงสัปดาห์ที่เหลือนั้น ก็เหลือแต่วิธีการจำอัดเข้าสมองอย่างเดียว พ่อแม่ให้สมองมาแค่ไหนก็ใช้จำให้ได้ไปเท่านั้น แต่ต้องขอบอกก่อนนะครับว่า สิ่งที่จำอัดเข้าไปในสมองในช่วงก่อนสอบนั้นจะทำให้ลืมได้ง่ายในตอนหลัง ถ้าไม่เขียนเก็บไว้หรือนำมาทบทวนใหม่อีกที รับรองว่าลืมเกลี้ยงภายในสองสัปดาห์ครับ (ถึงบอกเริ่มท่องจำก่อนที่จะสอบจริงก่อนซัก 2 สัปดาห์ เพราะถ้าไปจำก่อนหน้านั้น ก็คงลืมหมดเหมือนกัน)
          2.                เผื่อเวลาสำหรับการอ่านทำความเข้าใจในตัวเนื้อหารอบสุดท้าย และทบทวนในช่วงก่อนสอบสั้นๆ อีกที (allow large block of time for studying material and short periods for reviewing) พอจำเป็นตุเป็นตะได้หมดแล้ว ก็พยายามทำความเข้าใจแล้วหยิบมาเชื่อมต่อกันให้ได้มากที่สุด อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของข้อสอบนะครับ ถ้าเป็นข้อสอบแบบชิวๆ หรือเป็นตัวเลือกแล้วล่ะก็ ใช้วิธีเดาบางทียังตอบถูกเลย แต่ถ้าเป็นการสอบมหาหินที่ไม่ใช่มหายานแล้วล่ะก็ คงต้องใช้วิธีสูงสุดคืนสู่สามัญ โดยการทำความเข้าใจแบบนี้จะดีกว่าครับ ได้ความรู้แล้วก็พัฒนาความคิดไปด้วย
3.                จัดเวลาการอ่านให้เป็นช่วงๆ ไปตามหัวข้อและตามเนื้อหาที่กำลังจะอ่าน แล้วก็อย่าลืมทิ้งช่วงพักสั้นๆ ด้วย ซัก 5 15 นาที ต่อการอ่านซัก 1 - 2 ชั่วโมง  (vary what your study and schedule breaks) เวลาพักอาจจะเล่นกีตาร์หรือฟังเพลงซักเพลงสองเพลง ไม่แนะนำให้ไปกินขนมทุกช่วงพักนะครับ เดี๋ยวน้ำตาลไปอุดตันสมองหมด ในความเป็นจริงแล้ว ช่วงที่อ่านหนังสือจะเป็นช่วงที่หิวบ่อยสุด สอบเสร็จทุกทีมานี่ ขนาดสมองไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ทำไมน้ำหนักเพิ่มขึ้นก็ไม่รู้
           4.                หาเพื่อนมาช่วยอ่านและติวทบทวน (form study groups) เผื่อจะได้รู้ว่าตรงไหนไม่เข้าใจ  แล้วช่วยกันได้  เผลอๆ หลังสอบเสร็จ อาจได้เพื่อนคู่คิด มิตรคู่ใจมาเป็นของแถม  (เรียกว่าได้เป็นแพคเกจ) การที่ได้มีการติวทบทวนกันก็คือการที่ต้องได้พูดได้ฟัง จึงเป็นการบังคับตัวเองให้ได้คิดตามไปโดยอัตโนมัติ แล้วก็ช่วยทำให้เติมเต็มสิ่งที่ไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน แต่คำแนะนำอีกอย่างหนึ่งสำหรับข้อนี้ก็คือ การหาเพื่อนมาช่วยกันติวก็เหมือนการหาคู่แหละครับ เพราะถ้าได้คู่ที่ไม่ดีก็เหมือนตกนรกทั้งเป็น เสียดายเวลาไปเปล่าๆ เพราะฉะนั้นควรหาเพื่อนติวที่ฉลาดในระดับเดียวกันจะดีกว่า ถ้าเขาฉลาดเกินไป เราเองก็อาจจะฟังเขาพูดไม่รู้เรื่องเหมือนกัน
          5.                ศึกษาตัวอย่างข้อสอบ แล้วก็อย่าลืมจำลองสถานการณ์ในการทำข้อสอบจริงๆ (study the specimen examination paper) เพราะการที่เราได้เห็นตัวอย่างข้อสอบก่อน (ถ้าไม่มีก็ให้ถามจากคนที่เคยสอบเอา) แล้วหัดทำ ก็จะทำให้เราอุ่นใจและมั่นใจมากขึ้น อาการตื่นเต้นหรือความเสี่ยงในวันสอบจริงๆ ก็จะน้อยลงไปมาก และการทำข้อสอบเก่าๆ ก็เป็นเหมือนเครื่องมือวัดว่าเราเตรียมตัวมาพร้อมมากแค่ไหน บางคนเตรียมตัวดีเข้าใจทุกอย่าง แต่ไม่รู้แนวข้อสอบ อาจทำให้ได้คะแนนน้อยกว่าที่ควรจะเป็นไปก็มี เทคนิคการทำข้อสอบที่เป็นตัวเลือกก็ต่างกับเทคนิคในการทำข้อสอบที่เป็นข้อเขียน แต่ต่อให้มีเทคนิคและลีลาเก่งแค่ไหนก็ตาม ถ้าไม่รู้เรื่องหรือไม่มีความรู้ไปสอบก็มีโอกาสที่สอบผ่านได้ยาก (ถึงแม้จะไปไหว้พระพรหมหรือบนว่าจะกินเจก็ตาม)
6.                ฝึกวิธีการผ่อนคลาย สร้างสมาธิไว้บ้าง (practice relaxation techniques) เช่น กำหนดลมหายใจ, ร้องเพลง, เล่นกีตาร์, หรือนั่งฝอย เป็นต้น แต่ไม่แนะนำให้นอนกลางวันนานๆ เดี๋ยวจะเอาไปเป็นข้ออ้างให้กับตัวเองเปล่าๆ อ่านหนังสือปุ๊ปหลับปั๊ป ตื่นขึ้นมาอ่านหนังสือไม่ทัน แล้วจะเครียดหนักกว่าเดิม
7.                กินดีอยู่ดี มีความสุข (eat and sleep well) คิดว่าอันนี้คงทำกันไม่ยาก หลายคนคงบอกว่าเรื่องกินขอให้บอก จัดให้ได้อยู่แล้ว
8.                ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ (get regular physical exercise) การสอบนั้นต้องเตรียมตัวพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ การออกกำลังกายในช่วงก่อนสอบก็จะทำให้ตัวเบา สมองแล่นได้ แต่ไม่ต้องหักโหมจนเกินไป เอาแค่ให้เหงื่อออกหรือร่างกายได้ขยับเขยื้อนบ้าง เพราะมัวแต่นั่งอ่านทั้งวันจะไม่ดีต่อสุขภาพ อีกทั้งป้องกันการป่วยฉับพลันในตอนช่วงสอบด้วย คนที่ทำงานหนักเพื่อหาเงินจนเสียสุขภาพ แล้วพอมีเงินแล้วก็ต้องใช้จ่ายอย่างมากกับการเอาสุขภาพคืนมา ซึ่งบางทีก็เอากลับมาได้ยาก (โดยเฉพาะรอยตีนกา) การรักษาสมดุลของสุขภาพร่างกายจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดกว่าสิ่งใด
9.                มีปัญหาอะไรก็อย่าเก็บไว้คนเดียว (talk out your troubles) ให้ระบายออกไปบ้างก็จะดีครับ (รวมถึงอาการท้องผูกด้วย) ถ้างานเข้ามาหนักจนเกินไปหรือจัดตารางการสอบไม่ทัน ก็บอกเจ้านาย หัวหน้า หรือ อาจารย์ไว้บ้างก็จะดี ถ้าไม่มีใครช่วยได้ อย่างน้อยได้บ่นออกไปก็จะดี อย่าลืมว่าการบริหารความเครียดในช่วงการเตรียมตัวสอบก็เป็นสิ่งที่จำเป็น
10.           เช็คเวลาและสนามสอบก่อนวันสอบจริงให้เรียบร้อย (double check time and place for the exam the day) ให้วางแผนให้เรียบร้อยก่อนว่าจะเดินทางยังไง ตื่นที่โมง วันที่สอบจริงจะได้ไม่ต้องมาคอยระวังเรื่องเวลาหรือสนามสอบ (เผลอๆ หลงทางอีกต่างหาก) เฉกเช่นเดียวกับการเตรียมตัวไปรบ ก็ต้องส่งทหารไปสืบดูลาดเลาก่อน และถ้าเป็นการแข่งฟุตบอล นักฟุตบอลก็จะแวะเข้าไปทำความคุ้นเคยกับสนามก่อนเช่นกัน
11.           อย่านอนดึกในวันก่อนสอบ (avoid staying up all night) ให้ซ้อมนอนและตื่น ให้ตรงเวลาก่อนวันสอบจริงอย่างน้อยๆ สัก 3 วัน เพื่อให้ร่างกายปรับตัวกับเวลาในการเข้านอน
12.           ก่อนวันสอบหนึ่งวัน ให้เตรียมดินสอ, ยางลบ, ปากกา, เครื่องคิดเลข, ลูกอม (เติมน้ำตาลให้สมองในระหว่างการทำข้อสอบ), และ บัตรเข้าสอบให้เรียบร้อย (prepare necessary resources such as pens, calculators, exam ticket, etc) อย่าตกม้าตายในวันสอบโดยลืมเอาเครื่องคิดเลข หรือแม้แต่เอกสารที่จะแสดงตัวตนเพื่อให้เข้าสอบได้ การสอบบางประเภทที่ผ่านมา สนามสอบบังคับว่าต้องมีบัตรที่มีลายเซ็นด้วย ปรากฏว่าบัตรประชาชนไทยจะไม่มีลายเซ็นอยู่ในบัตร ทำให้ต้องใช้พาสต์ปอร์ตแทน ซึ่งอาจจะเป็นปัญหากับคนบางคนที่ไม่เคยทำพาสต์ปอร์ตมาก่อน ทำให้อดเข้าสอบไปอย่างน่าเสียดาย (และเสียใจ)
13.           หลบๆ พวกที่บ้าพลังหรือวิตกจริตก่อนที่จะสอบ อาการแบบนี้พบเห็นเป็นโรคติดต่อก่อนเข้าห้องสอบ, ช่วงสอบ, และช่วงพักระหว่างสอบกันมาก (keep away from people highly anxious before exams) และถ้ามันติดต่อมาถึงเราแล้วจะทำให้เสียสมาธิส่วนหนึ่ง อีกทั้งความกังวลก็จะตามมาทำให้มีผลกับการทำสอบไปด้วยเหมือนกัน ทางที่ดีให้สร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองโดยคิดว่าตัวเองเตรียมตัวมาดีที่สุดแล้ว เสียงนกเสียงกาไม่ควรจะเป็นผลต่อตัวเราครับ
          14.           ตั้งนาฬิกาปลุกและนอนให้ครบ 8 ชั่วโมง ก่อนการสอบจริง(Enough sleep before exam date)  เพราะการนอนหลับให้เต็มอิ่มก็มีผลกับการสอบ ถ้ากลัวว่าคืนก่อนวันสอบจะนอนไม่หลับ ให้นอนตุนเอาไว้ก่อนซักวันสองวัน จะได้ซ้อมนอนและตื่นไปในตัวด้วยเลย
          15.           กินอาหารเช้าที่มีน้ำตาลมาก โปรตีนน้อยหน่อย เพราะโปรตีนจะย่อยยากกว่าแป้งแล้วจะทำให้ง่วงกว่าและเลือดไปเลี้ยงสมองได้ยากกว่า ในทางกลับกัน น้ำตาลสามารถเผาผลาญและนำไปใช้ได้ภายใน 1 ชั่วโมง ขณะที่โปรตีนต้องใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงจึงจะเข้าสู่กระบวนการดูดซึม (have a good breakfast, which includes simple sugars (such as fruit juice), complex carbohydrates (cereal and toast) and protein (milk, eggs and meat) อาหารจำพวกกล้วย น้ำผึ้ง ซุปไก่ ข้าวโอ๊ต หรือแม้กระทั่งโสมก็เหมาะที่จะเป็นอาหารเช้า การสอบไหนที่ต้องสอบทั้งเช้าและบ่าย แถมต้องใช้ความอึดนั้น ขอแนะนำว่าน่าจะกินแซนวิชเป็นอาหารกลางวัน (ถ้าไม่มีก็เอาเป็นแฮมเบอร์เกอร์แทนก็ได้) ช่วงสอบไปก็เอาลูกอมเข้าปากไปเพื่อเพิ่มระดับน้ำตาลในสมองที่ต้องทำงานหนักในช่วงนั้น
16.           ไปถึงสนามสอบก่อนเวลาซัก 15   30 นาที  ไปเช้าไปก็ไม่ดีเพราะจะเจอกดดันและติดโรคเครียดจากคนอื่นๆ ที่เข้าสอบได้ (get to the exam venue well before the exam starts) ส่วนถ้าไปสายก็คงอดเข้าห้องสอบเห็นๆ
17.           อ่านคำสั่งให้ดีๆ ว่ามีโจทย์กี่ข้อ และดูให้ดีว่าต้องตอบลงที่กระดาษแผ่นไหน ใส่ชื่อกับเลขประจำตัวกันยังไง (read Instructions on the exam paper carefully) แต่ถ้าผลสอบออกมาว่าตก อาจจะเอาไปอ้างเพื่อนได้ว่าสงสัยฝนรหัสเลขประจำตัวสอบผิด (เพื่อนๆ เจ้านาย หรือ ลูกน้อง จะแสดงความเห็นใจให้) แต่อันนี้ไม่ขอแนะนำ สู้ยอมรับตัวเอง และเอาเวลาไปปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นดีกว่า
18.           อ่านคำถามอย่างผ่านๆ ทุกข้อให้เรียบร้อยก่อนทำโจทย์  วิเคราะห์ว่าควรทำข้อไหนก่อน และตัดสินใจว่าจะใช้เวลาประมาณเท่าไรในแต่ละคำถาม (read through all the questions, analyze questions and decide which questions you will answer, decide how much time you will spend on each question) การบริหารเวลาในการทำข้อสอบนั้นสำคัญและเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะการบริหารเวลาในห้องสอบได้ไม่ดีก็สามารถทำให้สอบตกได้ การอ่านคำถามคร่าวๆ ไว้ก่อนก็เพื่อป้องกันปรากฏการณ์ที่ทำข้อสอบไม่ทัน และบางข้อที่ยังไม่ได้ทำนั้น อาจกลายเป็นข้อที่ง่ายชนิดที่ให้ลิงมาทำก็ยังทำถูก อันนี้ถือว่าเสียคะแนนฟรีๆ ไปโดยใช่เหตุ เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง
19.           เริ่มทำจากข้อที่คิดว่ามั่นใจ (start with the easiest question to gain confidence) ทำข้อที่ง่ายเพื่อเก็บคะแนนเรียกน้ำย่อยไว้ก่อน การทำแบบนี้ก็ช่วยทำให้จิตใจสงบขึ้นในเวลาทำข้อสอบ และยังทำให้บริหารเวลาในการทำข้อสอบได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
20.           ถามเพื่อเอาความกระจ่างเมื่อจำเป็น (ask for clarification if necessary) อันนี้เป็นประโยชน์ของปากอีกอย่างหนึ่งที่นอกจากเอาไว้กิน ซึ่งถ้ามีอะไรที่เป็นข้อสงสัยในช่วงที่กำลังเขียนชื่อหรือก่อนลงมือทำข้อสอบแล้วก็ไม่ต้องอายที่จะถามเพราะมันจะทำให้เราป้องกันโอกาสที่จะเสียคะแนนไปโดยใช่เหตุ
21.           เขียนใจความหลักและแนวคิดอย่างเป็นระบบ (jot down main points and ideas for systematic and clear presentation) การสอบที่ดีและวัดความรู้ได้จริงนั้น ควรจะเป็นการสอบแบบข้อเขียน แต่การเขียนนั้นโดยเฉพาะถ้าต้องเขียนเป็นภาษาอังกฤษคงไม่ต้องมานั่งนึกถึงหลักไวยากรณ์ แค่เขียนใจความหลักเพื่อแสดงความรู้ว่าเรามีความรู้ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว แต่ถ้าเป็นข้อสอบแบบให้เขียนเป็นรายงานส่งแล้วเขียนจนอ่านไม่รู้เรื่อง ก็คงจะสอบตกโดยปริยาย
22.           ใส่แนวคิดหลักๆ ในหนึ่งย่อหน้า (only one main idea per paragraph) แต่ถ้าไม่มีเวลาเขียนเป็นย่อหน้า ก็เขียนเป็นประโยคหรือวลีแทน อย่าลืมครับว่าจุดประสงค์ของการสอบนั้นมีขึ้นก็เพื่อวัดความรู้ ไม่ใช่วัดภาษา (ยกเว้นเป็นการสอบวิชาการใช้ภาษา ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)
23.           สำหรับการสอบข้อเขียน ก็ควรจะเขียนให้เรียบร้อยและเผื่อช่องว่างเอาไว้มากๆ เผื่อกลับมาเติมหรือแทรกในภายหลัง (allow a generous margin) เพราะการเว้นช่องเผื่อเอาไว้ย่อมดีกว่า จะหาที่เติมในภายหลังแล้วหาไม่เจอ อันนี้มีผลกระทบกับทางจิตวิทยาทั้งคนทำข้อสอบและคนตรวจข้อสอบ อย่างแรกคือมันทำให้สมองต้องคิดหาพื้นที่ในการเขียนแทรกลงไป ในส่วนลึกของสัญชาตญาณแล้ว มันทำให้จำกัดความคิดสร้างสรรค์ในการเขียนคำตอบลงไป ในทางกลับกันถ้าเหลือช่องว่างไว้ กลับจะทำให้เราคิดเติมโน่นเติมนี่ลงไปในเวลาที่เหลือ และถ้าเขียนไปแล้ว อยากจะลบทิ้งก็สามารถเขียนทิ้ง แล้วเขียนเพิ่มเท่าไหนก็ได้ตราบเท่าที่ปากกายังมีน้ำหมึกและกระดาษยังมีที่ว่างให้เขียนอยู่ แต่ถ้าเค้าจำกัดจำนวนกระดาษที่เขียนก็ต้องเปลี่ยนแผนไปบริหารกระดาษและพื้นที่ว่างด้วย ส่วนถ้าคำไหนไม่ต้องการก็ให้ใช้วิธีขีดฆ่าแทน ไม่จำเป็นต้องลบก็ได้ โดยเฉพาะการลบด้วยน้ำยาป้ายคำผิด เพราะอย่างไรแล้ว คนตรวจบางทีก็เอาไปส่องดูอยู่ดีด้วยความอยากรู้อยากเห็นว่าคำที่โดนลบมันคือคำว่าอะไรกันแน่ อันนี้เป็นกันบ่อย ไม่เชื่อลองไปตรวจข้อสอบดู
24.           ใช้เวลาเท่าที่กำหนดในแต่ละคำถาม เช่นถ้ามี 30  ข้อใน เวลา 3 ชั่วโมง ก็อย่าให้เกินข้อละ 6  นาที (spend only the allotted time on each question) เทคนิคง่ายๆ มีอยู่ว่า ให้คำนวณหาว่าจะต้องทำข้อสอบเป็นจำนวนกี่คะแนนต่อนาที เพื่อจัดสรรปันส่วนมันลงไป การทำแบบนี้ก็เพื่อที่เราจะใช้ประโยชน์ของเวลาเพื่อให้ได้คะแนนมากที่สุด อย่าลืมว่าการจัดสรรและบริหารเวลาในขณะทำข้อสอบนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ดึงความรู้ออกมาให้ปรากฏอยู่ในกระดาษคำตอบได้มากที่สุด
25.           ตอบคำถามให้หมดทุกข้อ (answer all question required) เพราะว่าไม่มีเหตุผลที่จะไม่ตอบให้หมด สมัยนี้ไม่ใช้วิธีตอบผิดติดลบกันแล้ว ถ้าเป็นการทำข้อสอบแบบตัวเลือก ก็ขอแนะนำให้เลือกตัวเลือกที่ยังไม่ถูกเลือกลงในกระดาษคำตอบ ยกตัวอย่างเช่น ข้อสอบมีทั้งหมด 40 ข้อ เป็นตัวเลือก A, B, C, และ D ซึ่งเมื่อทำเสร็จแล้ว ปรากฏว่าเลือกตอบตัวเลือก A ไป 12 ข้อ ตัวเลือก B ไป 5 ข้อ ตัวเลือก C ไป 12 ข้อ ตัวเลือก D ไป 8 ข้อ และยังมีอีก 3 ข้อที่ยังหาคำตอบไม่ได้ โดยถ้าใน 3 ข้อนั้นคิดอะไรไม่ออกหรือตัดตัวเลือกไม่ได้จริงๆ ก็ควรจะมั่วเลือกตัวเลือก B ไปให้หมดเพราะมีโอกาสถูกมากกว่า (วิธีนี้สามารถอธิบายได้ในหลักการของ conditional probability อีกแบบหนึ่ง)
26.           ถ้าคิดไม่ออกแล้วไม่รู้ว่าจะตอบอะไร ให้ข้ามไปทำข้ออื่นก่อน (if you go blank and can’t think of anything to write, go to another question) อย่ามัวไปหมกมุ่นอยู่กับข้อที่ทำไม่ออก แล้วก็คิดแต่จะเอาชนะเพื่อทำข้อนั้นให้ได้ เวลาสอบจริงนั้นไม่เหมือนกับตอนอ่านหนังสือหรือตอนทำแบบฝึกหัด ดังนั้นต้องอย่าลืมที่จะถามตัวเองว่าเวลาที่อยู่ในห้องสอบก็คือเวลาที่จะพิสูจน์ความสามารถในการทำข้อสอบด้วย การบริหารเวลา บริหารความเครียด รวมทั้งเตรียมความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ ก็รวมอยู่ในหนึ่งของความสามารถในการทำข้อสอบเช่นกัน
27.           สนใจอยู่กับการสอบ อย่าเพิ่งฟุ้งซ่าน (concentrate on the exam) สมาธิเท่านั้นที่ต้องมีในการสอบ โดยเฉพาะตอนทำข้อสอบอยู่ในขณะนั้น ยิ่งตอนที่ทำข้อสอบไปได้ครึ่งทางแล้วยังไม่เจอปัญหาหนักใจ บางทีจะมีการฮัมเพลงอยู่ในใจหรือบางครั้งก็นึกว่าสอบเสร็จแล้วจะทำอะไรต่อดี ต้องไปเที่ยวกับใคร เที่ยวที่ไหน หรือแม้แต่ว่าต้องไปไหว้เจ้าแก้บนที่ไหนดี โดยคิดฟุ้งซ่านไปต่างๆ นานา ดังนั้นเราต้องระวังว่าความประมาทเป็นหนทางแห่งการต้องมาสอบใหม่ แนะนำว่าให้ยึดอยู่กับการบริหารเวลาว่าต้องทำข้อสอบกี่ข้อต่อหนึ่งนาที จะได้ไม่ชะล่าใจ
28.           คิดในเชิงบวก ให้คิดว่าการสอบเป็นการเปิดโอกาสให้เราแสดงสิ่งที่เราได้พยายามมาในการอ่าน (be positive, see the exam as a chance to show your study efforts) เพราะฉะนั้นอย่าไปกลัวกับการสอบ ให้นึกว่ามันเป็นเวทีของการมอบรางวัลจากความมุ่งมั่นที่ผ่านมา ช่วงที่อดหลับอดนอน อดเที่ยวกับแฟน (ถ้ามี) ก็เพื่อวันนี้เท่านั้น
29.           หลีกเลี่ยงการแข่งขันโดยไม่จำเป็น (avoid unnecessary competition) โดยเฉพาะหลีกเลี่ยงการแข่งกันชิงดีชิงเด่นว่าใครทำข้อสอบยากๆ ได้มากกว่ากันหรืออ่านหนังสือมามากกว่ากัน สุดท้ายแล้วผลลัพธ์ที่ต้องการจริงๆ ก็คือการแข่งขันกับตัวเองและเอาชนะตัวเองจนสอบผ่านได้ก็เพียงพอแล้ว
30.           เข้าใจและตระหนักถึงขีดจำกัดของตนเอง (recognize and accept limits and keep things in perspective) ถ้าอ่านไปเต็มที่แล้ว รู้เรื่องและเข้าใจหมดแล้ว ทำให้ดีที่สุดแล้ว ก็ไม่มีอะไรจะต้องกลัว สิ่งที่เราทำได้ก็คือฝังความรู้ความเข้าใจใส่หัว ถึงแม้ว่าครั้งนี้จะสอบไม่ได้ เพราะแนวข้อสอบไม่เข้าทาง หรือจะโชคไม่ดีก็เถอะ คราวหน้ายังมีใหม่ ตราบเท่าที่ยังมีสมอง มีร่างกายและจิตใจ แต่อย่าเข้าใจผิดแล้วเหมาว่าตัวเองโง่ แล้วท้อแท้หมดความพยายาม อันนี้มันคนละเรื่องกัน

สุดท้ายนี้ขอฝากบทกลอนให้กำลังใจคนที่สอบไม่ผ่านให้พยายามกันต่อไปนะครับ

สอบทั้งวันทั้งปีไม่มีพัก
ตกหลุมรักกับใครก็ไม่ได้
อีกทั้งงานทับถมจนเหนื่อยใจ
แล้วทำไมจึงยังตั้งตาทำ
กินแล้วนอนพักผ่อนจนอิ่มหนำ
แห้วระกำช้ำทุกข์จนสุขสม
ทุกครั้งเมื่อสอบตกอย่าทุกตรม
ทีละหนเอาให้ผ่านสำราญใจ



โดย พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) - นักคณิตศาสตร์ประกันภัย / แอคชัวรี
Certified by Society of Actuaries of USA, UK, and Thailand

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น