วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

Corporate Actuarial ทำอะไร?

Be an actuary – Corporate Actuarial ทำอะไร?
Tommy Pichet, Head of Corporate Actuarial, AVP – Actuarial Dept.

ฝ่าย Corporate Actuarial คือฝ่ายที่มีแอคชัวรีมาทำงานเกี่ยวข้องกับด้านงบการเงินการบัญชีและการลงทุน รวมทั้งความสามารถในการอยู่รอดของบริษัทได้ ถ้าจะให้กล่าวกันเป็นภาษาทางการเงินก็คือ แอคชัวรีจะมีบทบาทรับผิดชอบในการกำหนดเงินสำรองค่าสินไหมทดแทนของกรมธรรม์ (ว่าบริษัทควรจะตั้งไว้เท่าไร เพื่อที่จะมีพอจ่ายให้กับลูกค้าในอนาคตได้) และเงินกองทุนของบริษัท (Capital) ยามฉุกเฉิน เพื่อป้องกันบริษัทล้มละลายจากสภาวะผันผวนต่างๆ เพราะฉะนั้นถ้าเงินสำรองของกรมธรรม์ที่ตั้งในปีนั้นมีสูงเกินไปเท่าใด ก็จะทำให้กำไรของบริษัทต่ำลงไปเป็นจำนวนเท่านั้น แอคชัวรีที่ดีจึงต้องเข้าใจบริษัทในทุกๆ แง่มุมและไม่ตั้งเงินสำรองและเงินกองทุนให้มันมากไปหรือน้อยไป ไม่ว่าจะเป็นลักษณะแบบประกันในแต่ละชนิด ลักษณะของข้อมูลจากแต่ละฝ่าย ลักษณะการจ่ายเงินคอมมิชชั่นให้ตัวแทน ลักษณะค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัท วิธีการลงบัญชีแต่ละแบบ กลยุทธ์การลงทุน และอื่นๆ ที่ต้องเกี่ยวข้องกับตัวเลขในแต่ละฝ่ายเพื่อประกอบกันเป็นรายงานงบการเงิน เป็นต้น

แอคชัวรีที่ดีจึงต้องเข้าใจบริษัทในทุกๆ แง่มุมและไม่ตั้งเงินสำรองและเงินกองทุนให้มันมากไปหรือน้อยไป

สำหรับเงินสำรอง (Reserve) และเงินกองทุน (Capital) นั้นก็มีวิธีการตั้งหลายแบบ แล้วแต่ความต้องการของผู้กำกับดูแลและประเทศที่สำนักงานใหญ่ได้ตั้งอยู่ ส่วนจะตั้งอย่างไรนั้นก็เป็นรายละเอียดของแอคชัวรีที่จะต้องไปบ่มเพาะวิชาและแนวคิดจากการสอบเพื่อไปให้ถึงดวงดาวครับ

งบดุลก็เปรียบเหมือนการถ่ายรูป ส่วนงบกำไรขาดทุนก็เปรียบเหมือนกับการถ่ายวีดีโอ

โดยหลักแล้วถ้าจะให้พูดสั้นๆ ก็คือแอคชัวรีทางด้านนี้จะเป็นคนคอยบอกเรื่องราวของบริษัทผ่านทางตัวเลขในงบการเงิน ไม่ว่าจะเป็นงบดุลหรืองบกำไรขาดทุน เพื่อให้ผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุนได้เข้าใจถึงสถานะภาพของบริษัทว่าดูดีหรือขี้เหร่แค่ไหน ถึงแม้ว่าผมจะไม่ได้เรียนจบทางด้านบัญชีมาแต่ผมจะนึกภาพอยู่เสมอว่า งบดุลก็เปรียบเหมือนการถ่ายรูป ส่วนงบกำไรขาดทุนก็เปรียบเหมือนกับการถ่ายวีดีโอ หมายความว่า การทำงบดุลนั้นจะเป็นการกดชัตเตอร์ตอนสิ้นปีบัญชี เพื่อดูว่าตอนนี้บริษัทมีสินทรัพย์และหนี้สินอยู่เท่าไรแล้ว (ส่วนต่างจากสินทรัพย์กับหนี้สินก็คือส่วนของผู้ถือหุ้นนั่นเอง) ส่วนการทำงบกำไรขาดทุนนั้นก็เป็นการถ่ายวีดีโอเก็บไว้ตลอดปีบัญชี แล้วก็ดูว่าจากปีที่แล้วมาถึงปีนี้นั้นมีความเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์กับหนี้สินอยู่เท่าไร (และนั่นก็คือกำไร นั่นเอง) แล้วแอคชัวรีนี่แหละที่จะเป็นคนกำกับภาพว่ากล้องนั้นควรจะจัดมุมแบบไหนให้มันออกมาดูดีและสะท้อนความเป็นจริง ของแบบนี้ก็ต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์ไปพร้อมๆ กันครับ

แล้วแอคชัวรีนี่แหละที่จะเป็นคนกำกับภาพว่ากล้องนั้นควรจะจัดมุมแบบไหนให้มันออกมาดูดีและสะท้อนความเป็นจริง ของแบบนี้ก็ต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์ไปพร้อมๆ กัน

Corporate Actuarial ตามบริษัทในประเทศไทยส่วนใหญ่จะแบ่งส่วนงานที่ดูแลครอบคลุมสิ่งต่อไปนี้
  1. การตั้งเงินสำรองในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ได้ความหมายของคำว่ากำไรในรูปแบบต่างๆ กัน แล้วแต่วัตถุประสงค์ที่จะใช้ เช่น Statutory Profit, GAAP profit after tax, IFRS profit after tax
  2. การวัดระดับความน่าเชื่อถือของบริษัทจากระดับเงินทุนที่ถืออยู่ (Capital Adequacy Ratio) การวางแผนเงินทุนในยามฉุกเฉินของบริษัท (Capital Planning) การนำกำไรสะสมของบริษัทกลับคืนสู่ผู้ถือหุ้น (Remittance) และการดูแลความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทให้กับลูกค้า
  3. การศึกษาและทำสถิติเพื่อตั้งสมมติฐานของการจ่ายค่าสินไหมทดแทน (claim study) อัตราความยั่งยืนของกรมธรรม์ (persistency study) อัตราการเสียชีวิต (mortality study) อัตราการเจ็บป่วย (morbidity study) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัท (expense study) เป็นต้น
  4. รายงานประจำเดือน รายงานประจำไตรมาส รายงานประจำปี ที่ต้องยื่นให้กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
  5. งานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการด้านการประกันภัยต่อ (Reinsurance Issue) รวมถึงการวิเคราะห์กลยุทธ์ในการดำเนินการเพื่อกระจายความเสี่ยงด้วย
  6. การคำนวณมูลค่าของบริษัท (Embedded Value) ที่ควรจะเป็น เมื่อมีการซื้อขาย หรือสรุปมูลค่าของบริษัทให้กับผู้ถือหุ้น
  7. การจัดทำงบประมาณและประเมินสถานการณ์การเงินของบริษัทในอนาคต (financial projection) ซึ่งจะรวมถึงการคำนวณหามูลค่าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผลกำไรหรือเงินทุนของบริษัทอย่างละเอียดในอีก 3 – 5 ปีข้างหน้า อีกทั้งยังต้องวิเคราะห์ผลกำไรและมูลค่าต่างๆ ในแต่ละไตรมาสว่าแตกต่างจากการคาดการณ์ไว้มากน้อยแค่ไหน
  8. การจัดการข้อมูลในระบบต่างๆ และการพัฒนาซอฟแวร์รวมถึงแบบจำลองในการคำนวณของแอคชัวรี หรือที่เรียกกันว่าโมเดลลิ่ง (Modeling)
  9. การกำหนด เพิ่ม/ลด เงินปันผลของลูกค้า การกำหนดกฎเกณฑ์การขายประกันสุขภาพ (เช่น Hospital & Surgery)  ให้ตัวแทน และอื่นๆ ที่มีผลกระทบกับการเงินของบริษัทได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น